วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ไมโครไบโอม : เพื่อนแสนล้านชีวิตในร่างกายคน และสัตว์

 รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร. มณฑารพ ยมาภัย

หากวันหนึ่งท่านนั่งอยู่ในที่เงียบๆ คนเดียวสักที่หนึ่ง แล้วรู้สึกเหงา ว้าเหว่ โดดเดี่ยวขึ้นมา น้อยใจว่าไม่มีใครเลยเป็นเพื่อนคู่กาย  ขอบอกเลยว่า ... ท่านคิดผิดถนัด เพราะความจริงแล้ว ในร่างกายของมนุษย์ทุกคนตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องแม่นั้น จะมีแบคทีเรีย และจุลชีพอื่น ขนาดจิ๋ว ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น นับแสนล้านชนิดอยู่ตามส่วนต่างๆ ในร่างกายเต็มไปหมด ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น บนผิวหนัง ช่องหู จมูก และในระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ปาก หลอดอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงทวารหนัก  จำนวนของจุลชีพเหล่านี้ มีมากกว่าจำนวนเซลล์ต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ทั้งหมดรวมกันถึง 10 เท่า  และเจ้าเพื่อนขนาดจิ๋ว จำนวนมหาศาลที่อยู่ในร่างกายของเรานี้ ก็ไม่ได้มาอยู่ด้วยกันเฉยๆ แต่ยังมาช่วยในการทำงานของร่างกาย การดำรงชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย  พวกเขามีอิทธิพลต่อความอยู่ดีมีสุขของเราเป็นอย่างมาก  ทั้งช่วยป้องกันภัยจากเชื้อโรคข้างนอก มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ความแข็งแรงของร่างกาย หรือแม้แต่ การเจริญเติบโต และพัฒนาของสมอง รวมทั้งระบบการเผาผลาญในร่างกาย   แต่หลายครั้งโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่าง ก็เกิดขึ้นเพราะความผิดปกติ ไม่สมดุล ของการกระจายตัวของประชากรจุลชีพเหล่านี้  เช่นไปอยู่ผิดที่ มีมากไป หรือน้อยไป เป็นต้น  สิ่งแวดล้อม อาหารการกิน ยารักษาโรค เพศ และวัย ก็มีผลเป็นอย่างยิ่งต่อจำนวน และชนิดของประชากรจุลชีพในร่างกาย อันที่จริงถึงตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า เหล่าเพื่อนตัวจิ๋วเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อ ชีวิต และสุขภาพของเราในด้านใดบ้าง อีกทั้งหากเกิดความผิดปกติไป จะก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง  แต่ก็เริ่มมีการศึกษาและค้นคว้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มั่นใจได้ว่า พวกมันอยู่ในตัวเรา และมี อิทธิพลต่อตัวเราแน่ๆ  ดังนั้นในวงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นี้ จึงมีการกล่าว ไม่เพียงแต่ยีนที่ได้จากพ่อแม่เท่านั้น ที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพชีวิตของเรา แต่ยังมียีนอีก กว่า 3.3 ล้านยีนจากเพื่อนตัวจิ๋วเหล่านี้ ที่มีผลต่อชีวิตของเราด้วย  ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย ทั้งคนและสัตว์ ให้ดีนั้น หมายถึงจะต้องดูแลเจ้าเพื่อนๆ ตัวจิ๋วในร่างกายของเราไปด้วย ดูแลให้อยู่กันได้อย่างดีๆ มีความสุข ไม่ ทะเลาะกันเอง รักเรามากๆ และ คอยดูแลปกป้องเราจากเชื้อโรคร้าย ที่จะเข้ามาทำร้ายร่างกายเรา 

อันที่จริงความรู้เรื่องการมีแบคทีเรีย อยู่ในร่างกายเรานั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักวิทยาศาสตร์รู้จักมันมานานเกินร้อยปีแล้ว โดยเรียกแบคทีเรียเหล่านี้ว่า microflora และรู้ว่าเป็นแบคทีเรียที่มีอยู่ตามปกติในร่างกาย ที่ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดโรคใดๆ  แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ได้เกิดความรู้ใหม่ จากพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์ขั้นสูงชนิดใหม่ เรียกว่า metagenome sequencing  ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้พบความจริงที่คาดไม่ถึงว่า อันที่จริงแล้วในตัวเรานั้นมีแบคทีเรียมากมาย เป็นแสนล้านชนิด มากกว่า microflora เพียงไม่กี่ชนิดที่เคยพบโดยวิธีการตรวจสอบโดยแบบเดิมๆ ที่ต้องผ่านการนำมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง (culture) ให้สำเร็จก่อน จึงจะนำไปศึกษาว่าเป็นแบคทีเรียชนิดไหน หน้าตาเป็นอย่างไรได้  ซึ่งการที่ต้องนำแบคทีเรียมาเพาะเลี้ยงก่อนนี้เอง เป็นข้อจำกัดที่สำคัญในการประมาณการจำนวนแบคทีเรียในร่างกายของเรา เพราะแบคทีเรียส่วนใหญ่ที่อยู่ในร่างกายเราเกือบทั้งหมดนั้น ไม่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงได้โดยง่าย ในอดีต การประมาณการปริมาณแบคทีเรียในร่างกายเราจึงต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก  แต่วิธีการศึกษาแบคทีเรีย ด้วยเทคนิค metagenome sequencing นั้น ไม่จำเป็นต้องนำแบคทีเรียมาเพาะเลี้ยงก่อน สามารถทำได้โดยการสกัด DNA หรือสารพันธุกรรม จากบริเวณต่างๆ ในร่างกายเรา แล้วนำมาตรวจหาลำดับเบสของ DNA แต่ละเส้นที่สกัดมาได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ ด้วยเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ชั้นสูง ราคาแพงมหาศาล เมืองไทยยังไม่มี จากนั้น ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ประมวลผลอย่างซับซ้อน ออกมาให้เรารู้ได้ว่า DNA นั้นมาจากแบคทีเรียชนิดใด ซึ่งเครื่องมือวิเคราะห์อันมีประสิทธิภาพสูงนี้ สามารถบ่งบอกได้อย่างแม่นยำ ลงไปถึงระดับ genus และ species  ผลการวิเคราะห์นี้ ได้ถูกนำไปในรายงานในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำชื่อวารสาร Science เป็นผลให้วงการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพทั่วโลก เกิดการตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของมวลหมู่มิตรขนาดจิ๋วในร่างกายเราเป็นอย่างมาก  ผลสรุปการวิเคราะห์ประชาการแบคทีเรีย ในร่างกายมนุษย์แสดงดังรูปที่ 1  ซึ่งผลจากการวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นว่า แต่ละส่วนต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ มีกลุ่มแบคทีเรียอาศัยอยู่อย่างจำเพาะ ไม่เหมือนกัน  (และนี่คือเหตุผลที่ทำไม กลิ่นอับบริเวณรักแร้ กับกลิ่นเท้าที่เหม็น จึงไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ก็เป็นคนๆ เดียวกัน) ซึ่งความแตกต่างของแบคทีเรียกลุ่มต่างๆ ในบริเวณต่างๆ ของร่างกายคนนั้น มีมากกว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มแบคทีเรียในบริเวณเดียวกัน ของคนละคน (นี่คือเหตุผลว่าทำไมกลิ่นเท้าที่เหม็นของใครๆ ก็เหม็นคล้ายๆ กัน)  นอกจากนั้นแล้วความแตกต่างของแบคทีเรีย ยังขึ้นกับเพศ ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีผลในการกำหนดชนิดของประชากรแบคทีเรีย  อีกทั้งเมื่อนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์การกระจายตัวแบคทีเรียในเวลาต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ก็ยังพบว่ามีความแตกต่างกันด้วย ถึงแม้จะไม่มากนักก็ตาม  รูปแสดงแผนที่ไมโครไบโอม หรือการกระจายตัวชองแบคทีเรียในอวัยวะต่างๆ ในร่างกายแสดงในรูปที่ 2  ซึ่งแสดงชนิดของแบคทีเรียที่กระจายตัวอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย กลุ่มแรกอยู่ บริเวณช่องปาก, กล่องเสียง และ ทางเดินหายใจ กลุ่มที่ 2 อยู่บริเวณ กระเพาะอาหารและลำไส้ กลุ่มที่ 3 ในทางเดินปัสสาวะ และกลุ่มที่ 4 คือบริเวณผิวหนัง ซึ่งเฉพาะบนผิวหนังนั้น มีแบคทีเรียอยู่ไม่น้อยกว่า 205 จีนัส โดยบริเวณแขนมีแบคทีเรียหลากหลายชนิดมากที่สุดคือ ประมาณ 44 สปีชี่ส์  แบคทีเรียที่อยู่ในช่อง หู จมูก และขาพับ จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในแต่ละวัน และค่อนข้างจะเหมือนกันในแต่ละคน




รูปที่ 1 รูปแสดงการกระจายตัวของกลุ่มประชากรแบคทีเรียในลักษณะต่างๆ โดยแยกสีตาม (A) ที่อยู่, (B) เพศ, (C) บุคคล (D) และ เวลาต่างๆ ในแต่ละวัน จากรูปแสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียจะแยกกันเป็นกระจุก ตามอวัยวะในร่างกายมากที่สุด ส่วนในแต่ละวัน บุคคลและเพศ ก็จะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่ไม่เท่ากับความแตกต่างในแต่ละจุดในร่างกาย [EAC หมายถึงบริเวณหูและช่องหู; Hair หมายถึง ศีรษะและผม; Oral cavity หมายถึงช่องปาก; Gut หมายถึงกระเพาะและลำไส้; Skin หมายถึงผิวหนัง; Nostril หมายถึง โพรงจมูก] (คัดมาจาก Costello, E.K., Lauber, C.L., Hamady, M., Fierer, N., Gordon, J.I., and Knight, R. (2009). Bacterial Community Variation in Human Body Habitats Across Space and Time. Science (New York, NY) 326, 1694-1697).



รูปที่ 2 รูปแสดงการกระจายตัวของกลุ่มประชากรแบคทีเรียในส่วนต่างๆ ของร่างกาย และตัวอย่างของแบคทีเรียที่พบมากในอวัยวะนั้นๆ
(คัดมาจาก http://www.scientificamerican.com/article.cfm?id=microbiome-graphic-explore-human-microbiome)

ไมโครไบโอม หรือประชากรแบคทีเรียที่มาอยู่เป็นเพื่อนกับเรานั้น เริ่มเข้ามาในตัวเราตั้งแต่ออกจากท้องแม่ออกมา ในช่วง 1-2 ปีแรกของการเจริญเติบโต เหล่าแบคทีเรียเหล่าก็จะค่อยๆ มาสะสมในตัวเรา และหลังจาก 2 ปีไปแล้วก็ค่อนข้างจะคงที่ตลอดไป  ดังนั้นในช่วงหนึ่ง ถึงสอง ปีแรกจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากของชีวิต ที่ร่างกายจะได้สะสมแบคทีเรียที่จะมีประโยชน์ และมีผลกระทบต่อชีวิต และสุขภาพ ตลอดไป  สิ่งแวดล้อม อาหารที่รับประทาน และการเลี้ยงดูเด็กโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ดังแสดงในรูปที่ 3 ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบชนิดและจำนวนประชากรแบคทีเรียของเด็กที่เติบโตในประเทศ Burkina Faso :ในแถบแอฟริกาตะวันตก และประเทศ อิตาลี ในยุโรป ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก และความแตกต่างนี้ก็จะยังคงอยู่เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วด้วย  นอกจากถิ่นกำเนิดที่เติบโตขึ้นมา ซึ่งมีความแตกต่างทั้งอาหารการกิน และสภาพแวดล้อมอื่นๆ แล้ว  สิ่งที่มีปัจจัยสำคัญต่อการสร้างประชากรแบคทีเรียในเด็ก ยังขึ้นกับวิธีการคลอดด้วย โดยมีรายงานหลายเรื่องที่แสดงว่า เด็กที่คลอดผ่านช่องคลอดของแม่ จะได้รับแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตที่ดีกว่า เด็กที่คลอดโดยการผ่าตัดออกทางหน้าท้อง ที่เหมือนจะดูดีเพราะสะอาด ปลอดเชื้อ แต่กลายเป็นว่ากลับเป็นข้อเสีย เพราะเด็กเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้สัมผัส น้ำคร่ำและแบคทีเรียที่อยู่ในช่องคลอดแม่ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาภูมิคุ้มกัน และการพัฒนาของสมองอีกด้วย  นอกจากนั้นแล้ว ยังมีรายงานอีกจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า น้ำนมแม่นั้นเป็นแหล่งบ่มเพาะแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของลูกที่ดีที่สุด เพราะน้ำนมแม่มีสาร พรีไบโอติก ประเภท galacto-oligosaccharides (GOS) ซึ่งมีโครงสร้างซับซ้อนมาก ที่จะช่วยเป็นอาหารชั้นเลิศให้กับแบคทีเรียกลุ่มสำคัญที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย (แบคทีเรียโพรไบโอติก) ประเภท Bifidobacterium  ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเด็กที่ได้ทานนมแม่ จึงเติบโตเป็นเด็กที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคภูมิแพ้  ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบัน จะมีบริษัทผลิตนมหลายบริษัทที่ได้โฆษณาว่า ได้มีการใส่สารอาหารเสริม GOS หรือ oligosaccharides ประเภทอื่นเข้าไป แต่ GOS ที่ได้จากการสังเคราะห์เหล่านี้ ก็ยังไม่มีคุณภาพดีพอใกล้เคียงกับ GOS จากนมแม่เลย  ในปัจจุบันโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ รวมทั้งในเมืองไทย แม่ส่วนใหญ่มักคลอดลูกด้วยวิธีการผ่าตัดออกทางหน้าท้อง ซึ่งถึงแม้ว่าลูกจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์จากช่องคลอดแม่ แต่หากได้ทานนมแม่ ก็จะมีประโยชน์มาก  เมื่อเร็วๆ นี้ มีผลงานวิจัยล่าสุดที่น่าสนใจมาก ได้ทำการเปรียบเทียบคุณภาพนมแม่ ที่คลอดบุตรโดยวิธีปกติ คลอดโดยการผ่าตัดหน้าท้องแบบไม่จงใจ (คือตั้งใจจะคลอดปกติ มีการปวดท้องคลอดแล้ว แต่เกิดปัญหา ไม่สามารถคลอดปกติได้ จึงต้องผ่าตัดออก) และผ่าตัดคลอดแบบตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น ไม่ต้องมีการเจ็บท้องคลอด พบว่า แม่ใน 2 กลุ่มแรกมีคุณภาพนมที่ช่วยบ่มเพาะให้ลูกมีแบคทีเรียในลำไส้ที่มีคุณภาพดีกว่า แบบที่ผ่าตัดออกโดยไม่เจ็บท้องคลอดเลย ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่า ฮอร์โมนในร่างกายมีผลต่อแบคทีเรีย และองค์ประกอบต่างๆ ของนมแม่ ซึ่งสามารถส่งต่อไปยังลูกได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแนะนำให้แม่ทุกคน พยายามตั้งใจคลอดด้วยวิธีใกล้ธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  อีกทั้งในช่วง อายุ 1 ปีแรกนั้น หากหลีกเลี่ยงได้ ไม่ควรให้เด็กต้องทานยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อมากเกินไป เพราะยาเหล่านี้จะไปฆ่าแบคทีเรียดีๆ ที่เป็นมิตรต่อร่างกายของเด็กด้วย
         


รูปที่ 3 แสดงการกระจายตัวของประชากรแบคทีเรียในลำไส้เด็กที่เติบโตในประเทศ Burkina Faso (a) และ ประเทศอิตาลี (b) โดยศึกษาจากการวิเคราะห์ลำดับเบสของ 16S rRNA จะเห็นได้ว่าการกระจายตัวแตกต่างกันมาก แสดงให้เห็นว่า สิ่งแวดล้อม และอาหาร มีผลสำคัญต่อปริมาณและชนิดของประชากรแบคทีเรียในร่างกายมนุษย์ (คัดมาจาก De Filippo, C., Cavalieri, D., Di Paola, M., Ramazzotti, M., Poullet, J.B., Massart, S., Collini, S., Pieraccini, G., and Lionetti, P. (2010). Impact of diet in shaping gut microbiota revealed by a comparative study in children from Europe and rural Africa. Proc Natl Acad Sci U S A 107, 14691-14696)


          นอกจากนักวิทยาศาสตร์จะได้ทำการวิเคราะห์ประชากรแบคทีเรียที่กระจายตัวตามบริเวณต่างๆ ร่ายกายของคนปกติแล้ว ยังได้มีการศึกษาผลกระทบของ ประชากรจุลชีพ ต่อ สุภาพ การเจริญเติบโต การพัฒนาและการเกิดโรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์หลายอย่าง  ที่มีหลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชัดเจน ก็คือในเรื่องของ ประชากรแบคทีเรียในลำไส้ กับการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่เป็นกันมากในแถบทวีปยุโรป ชื่อว่า inflammatory bowel diseases  เพราะในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะมีจำนวนและชนิดของแบคทีเรียในลำไส้แตกต่างจากคนปกติมาก ดังนั้นแนวทางการรักษาโรคนี้ คือการพยายามปรับสมดุลของแบคทีเรียในร่างกายเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับอาหารที่รับประทาน การออกกำลังกาย และการทานแบคทีเรียโพรไบโอติกเสริม รวมทั้งแนวทางใหม่ซึ่งออกจะดูน่ารังเกียจ แต่ได้ผลดี คือการทาน หรือ ปลูกถ่าย อุจจาระ หรือ ขี้ นี่แหละ จากผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี  ท่านอ่านถูกแล้วค่ะ ผู้เขียนไม่ได้พิมพ์ผิด แนวทางการรักษานี้เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า Fecal bacteriotherapy โดยมีรายงานทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือจำนวนมาก ที่ได้แสดงว่าสามารถใช้วิธีนี้ในการรักษาโรค ติดเชื้อ Clostridium difficile ในทางเดินอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ Vancomycin เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นแล้ว แนวทางการรักษาด้วยอุจจาระนี้ ยังได้ถูกนำไปใช้ในการรักษาโรค ลำไส้อักเสบอื่นๆ และโรคท้องผูกอีกด้วย (ดูรูปที่ 4 ประกอบ)


รูปที่ 4  ด้านซ้ายมือเป็นภาพแบคทีเรียที่พบได้ในอุจจาระ (คัดมาจาก Wikipedia-Contributors (2014). Fecal bacteriotherapy ( Wikipedia, The Free Encyclopedia) ด้านขวามือเป็นแบคทีเรียที่ก่อโรคลำไส้อักเสบชื่อ Clostridium difficile ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการปลูกถ่าย หรือกิน อุจจาระของผู้ที่มีสุขภาพดี ซึ่งมีแบคทีเรียที่แสดงในรูปด้านซ้ายอยู่ (คัดมาจาก Smith, M.B., Kelly, C., and Alm, E.J. (2014). Policy: How to regulate faecal transplants. Nature 506, 290-291)

รายงานอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจ และมีมาอย่างต่อเนื่อง คือการศึกษาถึงผลกระทบของจำนวนและชนิดของประชากรแบคทีเรียในลำไส้ กับ การเจริญเติบโต และพัฒนาสมอง ซึ่งดูแล้วไกลกันมาก แต่กลับมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไม่น่าเชื่อ อาทิเช่น มีรายงานว่าประชากรแบคทีเรียในเด็กที่เป็นโรคออทิสติก จะผิดแผกแตกต่างจากประชากรปกติ และรายงานล่าสุดเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมานี้เอง ก็มีการรายงานว่า หนูที่ไม่มีแบคทีเรียในลำไส้เลย จะมีการเจริญเติบโตของเยื่อกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (blood brain barrier) ที่ผิดปกติไป คือจะไม่พัฒนาเต็มที่ เท่ากับหนูที่มีแบคทีเรียปกติในลำไส้  และก่อนหน้านี้ก็เคยมีรายงานที่แสดงให้เห็นมาก่อนแล้วว่า หนูที่เจริญเติบโตในสภาวะปราศจากเชื้อ (คือไม่มีแบคทีเรียในลำไส้เลย) จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ จึงไม่แข็งแรง และตายได้ง่าย  การศึกษานี้ และการศึกษาอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน ถึงแม้จะเป็นเพียงการวิจัยในหนูทดลอง แต่ผลที่ได้ก็แสดงว่าแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้นั้น น่าจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาของสมองคนด้วยเช่นกัน  เหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์พยายามจะอธิบายว่า เหตุใดแบคทีเรียในลำไส้ ที่ดูเหมือนจะอยู่กันคนละส่วน และห่างไกลมากจากสมอง จะมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาสมอง ก็คือ แบคทีเรียเหล่านี้สามารถสังเคราะห์สารต่างๆ เช่น fatty acids หรือ metabolites อื่นๆ ที่สามารถถูกดูดซึมผ่านเข้าไปในกระแสเลือด แล้วมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาของสมองได้

          กล่าวโดยสรุปจนถึงปี 2552 มีรายงานที่น่าเชื่อถือได้เป็นจำนวนมากที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง การเปลี่ยนแปลงการกระจายตัวของประชากรจุลชีพเฉพาะในลำไส้ กับ โรคและ อาการผิดปกติต่างๆ 25 ประเภท ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว พบว่าผู้ที่เป็นโรคจะมีความหลากหลายของประชากรแบคทีเรียลดลง โดยเฉพาะแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่น Bifidobacterium spp., Faecalibacterium prausnitzii, และ Akkermansia muciniphila เป็นต้น อีกทั้งยังเริ่มมีการใช้ แบคทีเรียโพรไบโอติก โดยเฉพาะในกลุ่ม Lactic acid ในการรักษาโรคอีกด้วย  ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ผู้เขียนมั่นใจว่าในอนาคต จะมีรายงานทำนองนี้มากขึ้นไปอีก และจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียในลำไส้ กับการเกิดโรค และอาการผิดปกติต่างๆ เท่านั้นเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงแบคทีเรียในส่วนอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วย  อีกทั้งแนวทางการวินิจฉัย และรักษาโรคต่อไปในอนาคต ก็จะไม่จำกัดเฉพาะแต่การให้ยาเพื่อรักษาตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่จะรวมถึงการให้ยา หรือสารเสริม เพื่อช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในร่างกายให้ปกติอีกด้วย รวมทั้งจะมีการใช้แบคทีเรียนี่แหละ เป็นตัวบ่งชี้ หรือทำนายว่า ท่านอาจจะเป็นโรคอะไร หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไรได้บ้าง (biomarker) ในอนาคต  ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเห็นว่า ชื่อเรื่องของบทความนี้ เขียนว่า ไมโครไบโอมเป็นเพื่อนแสนล้านชีวิต ของทั้งคนและสัตว์ แต่ทำไมจึงมีการกล่าวถึงเฉพาะคน และหนูทดลองเท่านั้น เหตุผลก็คือ เพราะมีหลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือเฉพาะกับในคนเป็นจำนวนมากและเป็นส่วนใหญ่ อันที่จริงแล้วก็พอจะมีรายงานความสัมพันธ์ระหว่างไมโครไบโอมกับ สุขภาพของสัตว์ต่างๆ บ้างแล้ว สิ่งที่กล่าวถึงในคน ในภาพรวมก็จะคล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในสัตว์เช่นกัน แต่ก็จะไม่เหมือนกันซะทีเดียว ต่อๆ ไป ผู้เขียนคาดว่า คงจะมีรายงานเกี่ยวกับไมโครไบโอม กับสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอฝากไว้สั้นๆ ว่า ในเมื่อเรารู้แล้วว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่มีเพื่อนอีกมากมายในตัวเรา ที่จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเรา จึงไม่ต้องรู้สึกเหงาอีกต่อไป และก็จำเป็นที่จะต้องพยายามดูแลเพื่อนๆ เหล่านี้ให้ดีด้วย ไม่ว่าการทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาจเสริมด้วยกลุ่มแบคทีเรียที่เป็นมิตรต่อร่างกายคือ โพรไบโอติก และอาหารของแบคทีเรียเล่านี้คือ พรีไบโอติก ด้วยก็จะดี  อีกทั้งหากเป็นไปได้ พยายามใช้ยาปฏิชีวนะอย่างระมัดระวัง ไม่ใช้พร่ำเพรื่อ เพราะยาเหล่านี้ไม่ได้เลือกกำจัดเฉพาะแบคทีเรียที่ก่อโรค แต่อาจทำร้ายแบคทีเรียดีๆ ที่อยู่ในร่างกายเราก็ได้ (แต่ก็ไม่ใช่จะไม่ให้กินยาเลย เพราะหลายโรคก็ต้องรีบรักษา ไปหาหมอและกินยาให้ครบเพื่อให้หาย) อีกทั้งควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำใจให้สงบ เพราะมีรายงานว่าความเครียดก็มีผลต่อการกระจายตัวของประชาการแบคทีเรียในร่างกายด้วยเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

Braniste, V., Al-Asmakh, M., Kowal, C., Anuar, F., Abbaspour, A., Tóth, M., Korecka, A., Bakocevic, N., Guan, N.L., Kundu, P., et al. (2014). The gut microbiota influences blood-brain barrier permeability in mice. Science Translational Medicine 6, 263ra158.
Costello, E.K., Lauber, C.L., Hamady, M., Fierer, N., Gordon, J.I., and Knight, R. (2009). Bacterial Community Variation in Human Body Habitats Across Space and Time. Science (New York, NY) 326, 1694-1697.
Pflughoeft, K.J., and Versalovic, J. (2012). Human microbiome in health and disease. Annual review of pathology 7, 99-122.
Smith, M.B., Kelly, C., and Alm, E.J. (2014). Policy: How to regulate faecal transplants. Nature 506, 290-291.
Wikipedia-Contributors (2014). Fecal bacteriotherapy ( Wikipedia, The Free Encyclopedia).